ค้นหาบล็อกนี้

เปิดตำนานรามเกียรติ์


ยินดีต้อนรับสำหรับบทความแรกของ EAGLE ในเวป MYTH แห่งนี้
สำหรับบทความที่ผมจะเขียนถึงนั้นจะเน้นในเรื่องราวของทางเอเชียเสียมาก ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ตำนาน รวมถึงเทพนิยายและวรรณกรรม
และหนึ่งในเทพนิยายของเอเชียที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกนั้น รามายณะ ก็คือมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ที่ถูกรจนาขึ้นมาจากดินแดนที่ได้ชื่อว่าลี้ลับที่สุดในโลกอย่างชมพูทวีป
บทความชุดนี้ที่จะพูดถึงเรื่องของรามายณะหรือที่คนไทยรู้จักในชื่อรามเกียรติ์นั้น จะขอเสนอมุมมองและเจาะลึกลงไปในสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในมหากาพย์เรื่องนี้ หากใครที่ได้ลองอ่านเรื่องนี้ดูอย่างจริงจังและคิดเรื่องราวต่างๆในเทพนิยายเรื่องนี้ตามหลักความจริงโดยตัดเอาสิ่งเหนือธรรมชาติและอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ทั้งหลายออกไปแล้ว อาจจะมองเห็นเหมือนที่ผมเห็นอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือแท้จริงแล้ว รามเกียรติ์และรามายณะก็คือบันทึกประวัติศาสตร์สงครามและการเมืองของชนชาติโบราณสองชนชาติที่มีอยู่จริงในโลก นั่นคืออารยันและดราวิเดียน

เอาล่ะเพื่อไม่ให้เสียเวลา จะขอเกริ่นเล่าเรื่องราวความเป็นมาของมหากาพย์ระดับโลกเรื่องนี้ก่อนละกัน





ต้นกำเนิดรามายณะ และ รามเกียรติ์
ก่อนหน้าจะเกิดเป็นรามเกียรติ์นั้น ต้นเรื่องของวรรณกรรมเรื่องนี้คือมหากาพย์เก่าแก่ที่ชื่อรามายณะ ซึ่งเป็นวรรณกรรมภาษาสันสกฤต ที่ถูกรจนาขึ้นมาโดยฤาษีวาลมิกิ โดยแต่งขึ้นมาเป็นโคลงกลอนแบบอินเดียที่เรียกว่าโศลก ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 24,000 โศลก 

เกี่ยวกับการแต่งเรื่องรามายณะขึ้นมานั้นมีตำนานเล่าว่าฤาษีวาลมิกิอาศัยอยู่ร่วมกับภรรยาของตนชื่อนางตมสาอยู่ในอาศรมที่ฝั่งริมแม่น้ำคงคา ในวันหนึ่งท่านได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญของนางนกกระเรียนตัวเมียที่ร่ำร้องให้กับนกกระเรียนตัวผู้ที่ถูกนายพรานยิงและนอนนิ่งอยู่ข้างตัว เสียงร้องของมันเศร้าโศกมาก ฤาษีเห็นเช่นนั้นก็อดโศกตามไม่ได้ จึงได้เอื้อนเอ่ยเสียงร้องออกมาเป็นบทกวีบทหนึ่งที่มีความโศกเศร้ารันทดมาก ซึ่งการเอื้อนเอ่ยบทกวีในครั้งนี้เองที่กลายมาเป็นการค้นพบการแต่งฉันทลักษณ์รูปแบบใหม่ของอินเดียที่เรียกว่าโศลก

หลังจากค้นพบการแต่งโศลกแล้ว ฤาษีวาลมิกิก็คิดจะแต่งบทกวีหรือเรื่องราวขึ้นมาสักเรื่อง จึงได้นึกไปถึงเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมและอธรรมที่เคยได้ยินมาจากพระนารท ซึ่งเป็นฤาษีอีกคน ท่านจึงได้ลองร้อยเรียบเรียงถ้อยคำที่ได้ฟังขึ้นมาเป็นโศลกที่มีความยาวกว่า 24,000 โศลก แบ่งเนื้อหาเป็นทั้งหมด 7 กัณฑ์ และนั่นก็คือที่มาของมหากาพย์รามายณะ

หลังจากแต่งขึ้นมาแล้ว ท่านก็ได้นำออกเผยแพร่ซึ่งสร้างความตื่นตาแก่ผู้ได้พบฟังมาก เพราะท่านได้สอดแทรกเอาเรื่องราวของสังคมในยุคของท่านใส่ไว้ในเรื่องอย่างแยบคาย ทั้งในเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม สัจธรรมของธรรมชาติ และผลที่ตามมาที่เกิดจากการปล่อยตัวและวิญญาณไปตามอารมณ์ทั้งหลายเช่น ความรัก ความโกรธ ความหลง ทำให้รามายณะกลายเป็นที่แพร่หลายไปทั่วอินเดียในยุคนั้น และต่อมาไม่รู้ว่าเพราะอะไร รามายณะจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์เวทที่สั่งสอนกันมาในศาสนาฮินดูและเชื่อกันว่าหากผู้ใดได้ฟังเรื่องรามายณะจนจบครบก็จะได้ไปสู่สวรรค์

เรื่องรามายณะไม่เพียงแต่แพร่หลายไปทั่วอินเดียเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายออกไปในแต่ละประเทศ และเมื่อออกไปสู่ภูมิภาคหรือดินแดนใดก็จะถูกผสานเข้ากับความเชื่อ วัฒนธรรมของดินแดนแต่ละแห่งอย่างกลมกลืน และเมื่อได้เข้าสู่ประเทศไทย เรื่องนี้ก็ได้ถูกนำเอาศิลปะ วัฒนธรรมของคนไทยผสานเข้าไป จนก่อเกิดเป็นเรื่องรามเกียรติ์ขึ้น

ตามหลักฐานที่มีนั้นบ่งชี้ว่าเรื่องรามายณะเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในสมัยอยุธยา และถูกดัดแปลงจนกลายมาเป็นเรื่องรามเกียรติ์ โดยมีปรากฏเห็นเด่นชัดในสมัยที่ศิลปะและวรรณกรรมเฟื่องฟูสุดขีดนั่นคือยุคของพระนารายณ์มหาราช 

หลังจากอยุธยาเสียกรุงครั้งที่สอง เรื่องรามเกียรติ์ก็หายไป แต่พระเจ้าตากสินทรงมีดำริที่จะฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมขึ้นใหม่ จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ขึ้นมาเป็นบทละครร้องด้วยพระองค์เองทั้งหมด 4 ตอน แต่ก็มีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้มีการเรียบเรียงเนื้อหาทั้งหมดให้เป็นเรื่องเป็นราวนัก จนกระทั่งหลังจากที่ร.1 ทรงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ก็ได้ทรงมีดำริที่จะชำระวรรณกรรมสำคัญของชาติที่หายไปขึ้นมาใหม่ ประกอบไปด้วย รามเกียรติ์ สามก๊ก อิเหนา อุณรุท ดังนั้นเรื่องรามเกียรติ์จึงได้ถูกเรียบเรียงและแต่งขึ้นมาใหม่จนสมบูรณ์กลายเป็นรามเกียรติ์ฉบับที่คนไทยรู้จักกันในทุกวันนี้ 
                 


รามเกียรติ์และมหากาพย์อีเลียด 

เรื่องรามเกียรติ์นั้นหากจะกล่าวเนื้อหาโดยสรุปแล้วก็คือบันทึกการสงครามระหว่างฝ่ายธรรมและอธรรม โดยตัวแทนฝ่ายธรรมนั้นก็คือมนุษย์ ลิง และเทวดา ส่วนตัวแทนฝ่ายอธรรมก็คือยักษ์ 

แต่จะมีใครรู้บ้างว่า มันคือสงครามที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นระหว่างสองเผ่าพันธุ์ นั่นคืออารยัน(อินโด-ยูโรเปียน)และดราวิเดียน(ทมิฬ) เพียงแต่บันทึกของสงครามนี้ไม่ได้ถูกบันทึกเก็บมาในรูปแบบของเอกสารทั่วไป แต่กลายมาเป็นบทร้อยกรองอันสละสลวยและมีการแต่งเติมความพิสดารพันลึก และแทนเรื่องราวหรือผู้คนหลายสิ่งด้วยสัญลักษณ์ต่างๆเช่น เทพ อสูร คนธรรพ์ ซึ่งหากเราลองตีความกันจริงๆแล้ว จะพบอะไรๆหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ในเนื้อหาและเรื่องราวของรามเกียรติ์มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ

ทำไมจึงเชื่อได้แน่นอนว่าการต่อสู้ระหว่างมนุษย์ เทพ ลิงและยักษ์ในรามเกียรติ์คือบันทึกสงครามระหว่างชาวอารยันและดราวิเดียน นั่นเพราะเดิมทีชมพูทวีปโดยเฉพาะพื้นที่ตอนใต้นั้น เป็นดินแดนที่มีชนเผ่าดราวิเดียนตั้งรกรากอยู่ ชนเผ่าดราวิเดียนนั้นเป็นพวกที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวดำคล้ำ ผมหยิก ซึ่งจะเห็นได้ว่ายักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์กับชนเผ่าดราวิเดียนมีลักษณะไม่แตกต่างกันเลย ในขณะที่ชนเผ่าอารยันนั้นไม่ใช่ชนชาติที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้มาแต่แรก แต่เป็นชนชาติที่อพยพมาจากทางตอนเหนือ พวกนี้มีผิวกายขาว รูปร่างหน้าตาคมสันกว่าพวกดราวิเดียน ซึ่งจะว่าไปก็คือพวกมนุษย์และเทพในรามเกียรติ์นั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีอีกประการหนึ่งที่ไม่รู้ว่ามีใครที่สังเกตบ้างหรือไม่ เรื่องราวอันเป็นเนื้อหาหลักของรามเกียรติ์นั้นมีส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อกับมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของซีกโลกตะวันตก

ถ้านึกไม่ออกผมจะช่วยบอกให้ นั่นก็คือ มหากาพย์อีเลียดและโอดิสซีที่มหากวีโฮเมอร์เป็นผู้แต่งขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนนั่นเอง

อะไรคือความเหมือนระหว่างมหากาพย์สองเรื่องนี้ ตอบได้ง่ายมาก นั่นเพราะต้นเหตุที่ก่อให้เกิดสงครามครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นมาของสองเรื่องนี้ เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน นั่นคือการที่นางเอกของเรื่องได้ถูกอีกฝ่ายชิงตัวไป
               
** ในรามเกียรติ์ นางสีดา ชายาของพระราม รัชทายาทแห่งอโยธยาได้ถูกท้าวทศกัณฐ์ ผู้ครองนครลงกาจับตัวไป 
** ในอีเลียด นางเฮเลนชายาของเมเนเลอุสแห่งสปาร์ตา ได้ถูกเจ้าชายปารีสแห่งทรอยพาตัวไป
...เรื่องหลังจากนั้นยังเหมือนกันจนไม่น่าเชื่อ
** พระรามได้กองกำลังจากนครขีดขินและเมืองชมพูเข้าร่วมรบ โดยมีเหล่าเทพแห่งเขาไกรลาสหรือเขาพระสุเมรุคอยช่วยเหลือ มีทหารเอกที่เก่งกล้าที่สุดอย่างหนุมาน นำกองทัพลิงเข้าโจมตีนครลงกา
** เมเนเลอุสได้รับความช่วยเหลือจากอะกาแมมนอน กษัตริย์แห่งเอเธนส์ และแคว้นต่างๆเข้าร่วมเป็นกองทัพพันธมิตร โดยกองทัพกรีกได้รับการหนุนหลังจากเทพเจ้าแห่งเขาโอลิมปุส ในกองทัพก็มีทหารเอกอย่างอคิลลิส เข้าโจมตีกรุงทรอย



และมีเรื่องหนึ่งที่คงไม่มีใครรู้...
นครลงกาอันเป็นนครของวงศ์ยักษ์ที่ทศกัณฐ์เป็นผู้ปกครองในเรื่องรามเกียรติ์นั้นมีอยู่จริงครับ แท้จริงแล้วนั่นคือเกาะศรีลังกานั่นเอง 

มีปรากฏชัดเจนของเอกสารที่บันทึกประวัติศาสตร์หลายแห่งที่มักเรียกเกาะศรีลังกาในอดีตว่าลงกา และหากสืบค้นประวัติศาสตร์ดูแล้ว จะพบว่าประเทศนี้เป็นดินแดนที่พวกดราวิเดียนได้ตั้งรกรากและสร้างบ้านเมืองเอาไว้

กรุงทรอยในเรื่องอีเลียด ก็เป็นประเทศที่อยู่บนเกาะซึ่งพวกกรีกต้องนำกองทัพเรือฝ่าข้ามไปเช่นกัน ดังนั้นหากเรามองเรื่องรามเกียรติ์ในฐานะประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้แล้ว นครลงกาก็คือไม่ผิดอะไรกับกรุงทรอยในอีเลียด 

มันเป็นเรื่องตลกดีไหม ที่วรรณกรรมสองเรื่องที่ถิ่นกำเนิดอยู่ห่างกันคนละซีกโลก และเกิดมาในยุคสมัยอันไกลโพ้นที่มนุษย์ยังคงมีชีวิตที่ผูกติดอยู่กับสิ่งบูชาอย่างเทพเจ้า กลับมีเนื้อหาและเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ