ค้นหาบล็อกนี้

เหตุแห่งสงคราม (ภาคสวรรค์ 1)


จุดเริ่มต้นของสงครามในรามเกียรติ์ ระหว่างมนุษย์ ลิง เทพและยักษ์ ที่ได้กลายมาเป็นบทโศลกและบทร้องกรองอันแสนเสนาะนั้น คือเรื่องของการชิงนาง
                ท้าวทศกัณฐ์ ยักษ์ผู้ครองลงกาได้ลอบชิงตัวนางสีดา ผู้เป็นชายาของพระราม รัชทายาทแห่งนครอโยธยาไปในระหว่างที่กำลังเดินป่า
                พระรามต้องการชิงตัวนางสีดาคืนจึงได้ออกเดินทางไปยังลงกา ระหว่างทางได้ลิงที่มีอิทธิฤทธิ์อย่างหนุมานมาสวามิภักดิ์ และได้กองทัพลิงแห่งนครขีดขินและชมพูมาอยู่ในบัญชาการ จากนั้นพระรามจึงเคลื่อนทัพเข้าประชิดลงกา ทศกัณฐ์จึงได้นำพาวงศ์ยักษ์ของตนเข้ารบ ก่อเกิดเป็นสงครามที่ยาวนานและพิสดารพันลึก ที่กินเวลากว่าสิบปี
                แต่เพียงเพื่อชิงสตรีเพียงนางเดียว คือเหตุผลของการต่อสู้ครั้งนี้จริงๆหรือ
                อย่างที่เคยพูดไว้ บทความชุดนี้จะขอตีความเรื่องต่างๆด้วยหลักเหตุผล แนวคิดทางการเมือง และประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ เมื่อมองในมุมนี้แล้ว จึงมีอะไรมากยิ่งกว่าที่วรรณกรรมได้พรรณนาไว้
                ในมหากาพย์อีเลียด เมเนเลอุสได้รับความช่วยเหลือจากอะกาเมมนอน นำกองทัพกรีกเข้าบุกตีกรงทรอย เพื่อพาเฮเลนที่ถูกเจ้าชายปารีสชิงตัวไปกลับมา ตัวเมเนเลอุสอาจทำเพื่อศักดิ์ศรีหรือความรัก แต่ในฐานะของอะกาเมมนอนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของกรีกแล้ว ย่อมไม่มองเช่นนั้นแน่ หากเราลองเป็นอะกาเมมนอน แล้วมองเรื่องนี้ในแบบของนักการเมือง นี่คือโอกาสทองในการที่จะหาข้ออ้างระดมกองทัพทั่วกรีกเพื่อตีกรุงทรอย เป็นการขยายอำนาจของตนและอาจเป็นโอกาสทำให้ตนได้เป็นกษัตริย์ครองกรีกแต่ผู้เดียว
                สิทธิความชอบธรรม คืออาวุธของผู้กระหายในอำนาจที่มีความอดทนและเฝ้ารอโอกาสในการที่จะกระทำการใดสักอย่าง ตัวอย่างมีให้เห็นเยอะแยะ
                ในสามก๊ก ตั๋งโต๊ะสามารถยกกองทัพเสเหลียงเข้ามายึดอำนาจในเมืองหลวงได้อย่างง่ายดาย เพราะอาศัยการที่โฮจิ๋นออกคำสั่งเรียกขุนพลจากภูธรเข้ามาปราบเหล่าขันที ปกติขุนศึกชายแดนอย่างตั๋งโต๊ะไม่อาจนำกองทัพเข้าเมืองหลวงได้ แต่นี่ตนมีข้ออ้างที่จะนำทหารเข้ามาเพื่อปราบกังฉิน
                เล่าปี่สามารถนำทหารเข้าเสฉวนได้อย่างง่ายดายในครั้งแรก เพราะเล่าเจี้ยงกลัวที่จะถูกเตียวฟ่อรุกราน จึงได้ขอความช่วยเหลือ ซึ่งเล่าปี่นั้นคิดจะเข้ายึดครองเสฉวนแต่แรก แต่ติดที่เป็นคนสกุลเดียวกัน กลัวว่าคนจะครหา แต่นี่คือโอกาสแล้วที่จะได้นำทหารและพาตัวเองเข้าไปในเสฉวนเพื่อสร้างความปั่นป่วนและทำการต่างๆ
                อยากจะบอกว่าพระรามก็ไม่ต่างกัน พระรามไม่ใช่กษัตริย์ที่กลัวความยากลำบาก จะเห็นได้ว่าเมื่อถูกท้าวทศรถบอกให้ออกไปเดินป่าเป็นเวลาหลายปีจึงกลับบ้านเมืองได้ ก็ยอมไปโดยไม่หวั่น แต่ที่พระรามต้องการจริงๆนั้นคือชื่อเสียง เกียรติยศในฐานะกษัตริย์ผู้พิชิต 
                สีดา เมียของตนถูกกษัตริย์ของลงกาชิงตัวไป นี่คือโอกาสทองที่หาไม่ได้อีกแล้ว ในการที่จะอาศัยความชอบธรรม นำพากองทัพพันธมิตรของขีดขินและชมพูเข้าบุกลงกา โดยที่คนทั่วแผ่นดินต่างก็พร้อมยอมรับและพร้อมจะสนับสนุน เพราะทุกคนย่อมมองว่าการกระทำของทศกัณฐ์นั้นผิด
                ดังนั้นเป้าหมายแท้จริงของการศึกนี้จึงมิใช่การต่อสู้เพื่อแย่งชิงสีดากลับมา การแย่งนางกลับมานั้นเป็นเพียงเรื่องรอง แต่เป้าหมายหลักคือการประกาศศักดาความเป็นยอดกษัตริย์ของตนให้ระบือ และพิชิตลงกาให้มาเป็นของตนเอง
                ทำไมจึงพูดแบบนี้ เพราะมีหลักฐานปรากฏชัดแจ้งอยู่ในตอนหนึ่งของเรื่องรามเกียรติ์ เป็นพฤติกรรมเรื่องหนึ่งของนางสีดาหลังจากถูกจับตัวไปแล้ว ที่ไม่ว่าจะอ่านเช่นใดก็ไม่สมเหตุสมผลหากมองตามความเป็นจริง แม้ว่าในเรื่องจะพยายามให้เหตุผลรองรับไว้แล้วก็ตาม ซึ่งจะขอกล่าวถึงในภายหลัง


ตัวร้ายที่แท้จริงของรามเกียรติ์
                
                รามเกียรติ์นั้นเปิดฉากครั้งแรกพูดถึงการกำเนิดของพื้นพิภพ ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องราวของเทพ เทวาทั้งหลาย รวมถึงการเกิดขึ้นมาของกษัตริย์องค์แรกแห่งโลกมนุษย์นามว่าท้าวอโนมาตัน ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากดอกบัว หลังจากที่เกิดมาแล้ว พระศิวะก็ได้สร้างเมืองอโยธยาขึ้นเพื่อให้ท้าวอโนมาตันได้ปกครอง ซึ่งหลังจากนั้นท้าวอโนมาตันก็ได้ให้กำเนิดเชื้อวงศ์กษัตริย์ขึ้นมามากมาย จนกระทั่งมาถึงรุ่นที่สามนั่นคือท้าวทศรถ
                ท้าวทศรถมีชายยาทั้งหมด 3 คน ซึ่งทั้งหมดได้ให้กำเนิดโอรสทั้งหมด 4 องค์ นั่นคือ พระราม พระพรต พระลักษณ์ พระสัตรุต 
                เกี่ยวกับการกำเนิดของพระรามนี้ หากพูดในแง่ของวรรณกรรมแล้ว ต่างเชื่อกันว่าเขาคือพระนารายณ์ที่อวตารมาเกิด
                ต้นเหตุของการอวตารของพระนารายณ์นั้น จะว่าไปก็เหมือนกับเทพนิยายโบราณของกรีก ที่มักจะเริ่มต้นด้วยเรื่องราวยุ่งๆของเหล่าเทพที่มักจะเป็นตัวกำหนดบทบาทและชะตากรรมของมนุษย์คนนั้นในภายหลัง
                เดิมทีนั้นมียักษ์ตัวหนึ่งชื่อนนทุกซึ่งเป็นยักษ์ที่คอยล้างเท้าให้แก่เหล่าเทพที่จะเข้าเฝ้าต่อพระอิศวร ซุ่งนนทุกนี้ก็ทำหน้าที่ด้วยดีเสมอมาโดยไม่เคยเกี่ยง แต่ว่าเหล่าเทพนั้นมักจะกลั่นแกล้งนนทุกด้วยการถอนผมของนนทุกเล่นจนหมดหมดหัว นนทุกนั้นเจ็บใจจึงได้อ้อนวอนต่อพระอิศวรขออิทธิฤทธิ์เพื่อไม่ให้ใครรังแกได้อีก
                พระอิศวรเห็นใจนนทุก จึงมอบนิ้วเพชรที่ทรงพลัง หากชี้ใครก็จะโค่นคนนั้นลงได้ให้ นนทุกเมื่อได้นิ้วเพชรมาก็ยังทำหน้าที่ของตนไปด้วยดี จนกระทั่งเมื่อมีเทพมากลั่นแกล้งตนอยู่อีก เขาจึงหมดความอดทนแล้วใช้นิ้วเพชรเล่นงานเทพองค์นั้นเสีย




                นนทุกได้ใจกับอำนาจของตนจึงออกอาละวาดไปทั่วสวรรค์ ร้นจนพระนารายณ์ต้องมาปราบ โดยพระนารายณ์ได้แปลงร่างเป็นนางอัปสรมาล่อให้นนทุกใช้นิ้วเพชรจี้ไปที่เอวของตัวเอง นนทุกจึงเสียท่าและพระนารายณ์ก็คืนร่างกลับมาแล้วเหยียบนนทุกไว้แทบเท้า
                นนทุกเห็นว่าแท้จริงแล้วเป็นพระนารายณ์แปลงตัวมาก็แค้นใจ จึงกล่าวว่าตนเป็นเพียงยักษ์ที่มีสองมือ จะไปสู้อะไรกับพระนารายณ์ที่มีสี่กรอาวุธครบมือได้ พระนารายณ์จึงลั่นวาจาว่า เช่นนั้นก็ขอให้เจ้าไปเกิดชาติหน้ามีสิบหน้า ยี่สิบกร แล้วตนจะไปเกิดเป็นมนุษย์มีสองมือสองเท้า และจะปราบนนทุกอีกครั้ง จากนั้นก็ใช้จักรสังหารนนทุกเสีย

                เพราะเหตุนี้เองนนทุกจึงได้กลายมาเป็นทศกัณฐ์ และพระรามก็ได้อวตารมาเกิดเป็นพระรามเพื่อปราบทศกัณฐ์อีกครั้ง
                จากเนื้อหาตรงนี้จะเห็นอะไรไหม เห็นไหมว่าต้นเหตุแห่งความวุ่นวาย ยุ่งเหยิงทั้งหลายมาจากใคร มันมาจากเหล่าเทพหรือถ้าเรามองแบบประวัติศาสตร์การเมืองแล้วเทพก็คือชนชั้นสูงแล้ว ปัญหาแรกสุดของเรื่องนี้ก็มาจากเทพ หรือพวกชนชั้นสูงนั่นเองที่เป็นตัวก่อเรื่อง
                ในวรรณกรรมบ่งไว้ชัดมากว่า นนทุกทำหน้าที่ของตนในการล้างเท้าเหล่าเทพอย่างไม่มีบกพร่องมาเป็นร้อยปี ทั้งที่เป็นงานต่ำต้อย และหลังจากได้นิ้วเพชรมา ในครั้งแรกเขาก็ไม่ได้หาเรื่องกับเหล่าเทพ แต่ยังคงทำงานเป็นปกติ อ่านเนื้อหาบทนี้แล้ว ไม่ทราบเหมือนกันว่าผู้ที่แต่งเติมเนื้อหารามเกียรติ์เกี่ยวกับเนื้อเรื่องช่วงสวรรค์นั้นต้องการจะสื่ออะไรสักอย่างหรือเปล่า
                หากไม่ใช่เพราะฝ่ายที่อ้างตนเป็นเทพ เป็นธรรม จนมีความเย่อหยิ่งจองหองคิดว่าตนสูงศักดิ์กว่าผู้อื่น จนคิดจะทำอย่างไรกับใครก็ได้ ไม่เป็นฝ่ายหาเรื่องก่อน การที่ชนชั้นล่าง หรือผู้ต่ำต้อยกว่าอย่างนนทุกก็คงไม่คิดการขึ้นมา และกลายมาเป็นทศกัณฐ์ที่สร้างเรื่องต่างๆขึ้นมามากมายในภายหลัง
                เนื้อหาในช่วงก่อนพระรามเกิดนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวสวรรค์ ซึ่งแน่นอนว่าหากมองรามเกียรติ์เป็นบันทึกสงครามในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงแล้ว นี่ย่อมเป้นสิ่งที่ถูกเสริมขึ้น ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าฤาษีวาลมิกิเป็นผู้ที่แต่งขึ้นมาตั้งแต่แรกสุด หรือว่าเป็นผู้อื่นแทรกเข้าไปภายหลัง แต่อย่างน้อยนี่ก็น่าจะพอบ่งบอกอะไรได้อย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์นี้ว่า
                แม้ว่าจะเป็นผู้ชนะของสงครามนี้ในท้ายสุด แต่ผู้แต่งวรรณกรรมโดยเฉพาะในยุคหลังก็ได้แอบใส่ข่าวสารสำคัญอย่างหนึ่งที่ว่า ตัวร้ายที่แท้จริงของเรื่องนี้คือฝ่ายเทพนั่นเอง  
                และคนแพ้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ร้ายเสมอไป